E-Service
 
เข้าดูหน้านี้ 887


การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

            

การจมน้ำ  คือการที่จมลงใต้น้ำแล้วหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอด และกลืนกินน้ำเข้าไป จมมีผลต่อร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักเกิดกับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือคนที่ว่ายน้ำเป็นแต่อยู่ในภาวะซึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ทั้งนี้การจมน้ำในน้ำจืดจะใช้เวลาประมาณ 3-4 นาที และในน้ำเค็มจะใช้เวลาประมาณ 7-8 นาที

ลักษณะอาการของคนที่กำลังจมน้ำ  แบ่งเป็น 11 ระยะ 
 ระยะที่  1 เกิดอาการตกตะลึง อ้ำอึ้ง จะเริ่มรู้ตัวว่าจะไม่รอดชีวิตถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ
 ระยะที่  2 ตะเกียกตะกาย พยายามดิ้นรนอยู่น้ำเพื่อไม่ให้ตัวเองจมน้ำ
 ระยะที่  3 เกิดการว่ายน้ำได้เองโดยอัตโนมัติ แต่ทำได้เพียงในระยะเวลาอันสั้น แล้วจะเริ่มจมน้ำ
 ระยะที่  4 เริ่มมีอาการหยุดหายใจเกิดขึ้น เนื่องจากได้พยายามกลั้นหายใจไว้ตั้งแต่ระยะที่ 1-3 แล้ว ทำให้ก๊าซออกซิเจนในร่างกายเริ่มลดลง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งอยู่ในกระแสเลือด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจของร่างกายเพื่อให้เกิดการหายใจตามปกติ ผู้จมน้ำจึงสูดหายใจเข้าอีกครั้งหนึ่ง
 ระยะที่  5 ขณะสูดลมหายใจอีกครั้งหนึ่งจะเริ่มสำลักและกลืนน้ำเข้าไป
 ระยะที่  6 เกิดการไอ และอาเจียน
 ระยะที่  7 ผู้จมน้ำจะพยายามกระเสือกกระสน โดยจะถีบตนเองให้จมูกพ้นผิวน้ำ แล้วสูดหายใจเข้าไปอีกเฮือกหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเฮือกสุดท้าย
 ระยะที่  8 สำลักน้ำเข้าปอด 
 ระยะที่  9 พ่นน้ำลายออกมาเป็นฟอง และมีเลือดปนออกมา
 ระยะที่ 10 ชัก ไม่รู้สติ
 ระยะที่ 11 เสียชีวิต แล้วจมน้ำลงไป

 การช่วยเหลือคนตกน้ำ กำลังจะจมน้ำ                       
           
เมื่อพบคนกำลังจะจมน้ำการช่วยเหลือให้หลีกเลี่ยงการช่วยเหลือโดยลงน้ำเข้าไปช่วยเหลือ เพราะคนตกน้ำจะอยู่ในอาการตื่นตระหนก หากผู้ช่วยเหลือว่ายน้ำเข้าไปหาอาจถูกคนที่ตกน้ำกอดรัดจนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หรืออาจจมน้ำไปด้วยกัน การช่วยเหลือผู้ช่วยเหลือเองก็ต้องตั้งสติให้ดี แล้วตะโกนบอกให้คนที่ตกน้ำตั้งสติพยายามพยุงตัวเอง หรือปลดเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่มีน้ำหนักมาก หรือเป็นอุปสรรคในการลอยตัวออกไป และบอกเขาว่าเรากำลังจะช่วย ซึ่งวิธีการช่วยเหลือมี 4 วิธี คือ ยื่น – โยน – พาย - ไปลาก
          ยื่น  เช่นการยื่นแขน ขา ให้เขาจับ แต่ผู้ช่วยเหลือต้องยึดตัวเองให้มั่นคง หรือมีคนช่วยจับหรือรั้งไว้ เพื่อไม่ให้ถูกดึงตกน้ำไปด้วย หรือใช้ท่อนไม้ ท่อนเหล็กยื่นลงไปช่วย


 



การช่วยเหลือคนตกน้ำโดยการยื่นไม้ให้เขาจับแล้วลากเข้ามา


          โยน  โดยการโยนสิ่งของที่เป็นทุ่นลอยน้ำได้ให้เขาเกาะ เช่นห่วงชูชีพ ขอนไม้ ยางในรถยนต์ ลูกมะพร้าว  ลูกบอล ถังพลาสติกปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกปิดฝา(หลายๆขวด)  เชือก (ปลายข้างหนึ่งควรขมวดปมใหญ่ๆ หรือมีวัสดุบางอย่างเช่น รองเท้าแตะ แกลลอน ขวดพลาสติก ผูกถ่วงไว้)โดยโยนสิ่งของดังกล่าวให้ตกลงบริเวณด้านหน้าของเขา แล้วให้เขาเกาะลอยตัวว่ายเข้าหาฝั่ง หรือรอการช่วยเหลือ หรือลากเขาเข้ามา

          พาย  คือการใช้เรือพาย หรือเรือยนต์เข้าไปช่วยเหลือ โดยผู้ตกน้ำอาจต้องลอยคอ หรือเกาะวัสดุสิ่งของลอยน้ำคอยอยู่


ห่วงชูชีพผูกเชือก

          ไปลาก  ผู้ช่วยเหลือต้องลงไปในน้ำ ซึ่งวิธีการนี้ให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งมี 2 กรณี คือ 
           ก. เดินลุยน้ำลงไปช่วย  ใช้ในกรณีน้ำตื้นพอยืนถึง ไม่เกินระดับอก ส่วนคนตกน้ำอาจเป็นเด็ก หรือคนตัวเตี้ยหยั่งน้ำไม่ถึง โดยผู้ช่วยเหลือควรปลดหรือถอดเสื้อผ้า เครื่องประดับที่เป็นตัวถ่วงออกก่อนแล้วเดินลุยน้ำไปช่วยดึง หรืออาจใช้คนหลายคนเกี่ยวแขนต่อกันเป็นโซ่ หรือมีอุปกรณ์ลงไปช่วยด้วย

            ข. ว่ายน้ำออกไปช่วย   ในกรณีน้ำลึก วิธีการนี้ขอย้ำว่า     ผู้ช่วยเหลือต้องมีทักษะการว่ายน้ำที่ดี และควรได้รับการฝึกวิธีการช่วยเหลือมาแล้ว มิฉะนั้นผู้ช่วยเหลืออาจหมดแรง จมน้ำ หรือถูกคนที่ตกน้ำกอดรัดให้จมน้ำไปด้วย การช่วยเหลือต้องเข้าทางด้านหลังของคนที่ตกน้ำเสมอ และถ้าหากถูกคนที่ตกน้ำกอดรัดไว้ ให้เราดำน้ำลง จะทำให้เขาปล่อยเราเพราะเขาต้องการขึ้นผิวน้ำ การว่ายน้ำลากคนที่ตกน้ำมี 3 แบบ                        
                         แบบที่ 1 กอดไขว้หน้าอก โดยเข้าด้านหลังของคนที่ตกน้ำ ใช้มือข้างหนึ่งพาดบนบ่าข้ามข้อศอก ไขว้ทแยงหน้าอก ไปจับข้างลำตัวตรงรักแร้ มืออีกข้างหนึ่งของเราใช้พุ้ยน้ำ ถีบเท้าทั้งสองเพื่อให้ลอยตัวและเคลื่อนที่ไป


การช่วยเหลือด้วยวิธีกอดไขว้หน้าอกลากเข้าหาฝั่ง


                        แบบที่ 2 จับคาง โดยเข้าด้านหลังของคนที่ตกน้ำ แล้วใช้มือทั้งสองจับขากรรไกรทั้งสองข้างของเขา ใช้เท้าถีบเพื่อลอยตัวและเคลื่อนที่ไป

 


การช่วยเหลือด้วยวิธการจับคางลากเข้าหาฝั่ง


                        แบบที่ 3 จับผม โดยเข้าด้านหลังของคนที่ตกน้ำ แล้วใช้มือข้างหนึ่งจับที่ผมของเขา มืออีกข้างพุ้ยน้ำ พร้อมกับใช้เท้าถีบเพื่อลอยตัวและเคลื่อนที่ไป


การช่วยเหลือด้วยวิธีจับผมลากเข้าหาฝั่ง


                 การช่วยเหลือทั้ง 3 แบบ ขณะที่ลากคนที่ตกน้ำต้องพยุงให้ใบหน้า ปาก และจมูกของเขาอยู่พ้นเหนือผิวน้ำไว้เสมอ หรืออาจใช้วิธีว่ายเข้าไปช่วยโดยมีอุปกรณ์ไปด้วย เช่นชูชีพ ห่วงยาง กิ่งไม้  แผ่นโฟม หรือแม้กระทั่งเสื้อ ให้คนที่ตกน้ำใช้เกาะไว้ แล้วจึงลากเขาเข้ามาโดยพยายามพูดกับเขาให้ตั้งสติไว้ และพยุงตัวไปพร้อมกันด้วย วิธีการนี้ป้องกันไม่ให้เขามากอดรัดเราแล้วจมน้ำไปด้วยได้อีกวิธีหนึ่ง    
       
                การพูดให้คนที่ตกน้ำมีสติ คลายความตื่นตระหนก และพยายามช่วยตนเองด้วย จะทำให้การช่วยเหลือทำได้ง่าย และมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น    
       
                การปฐมพยาบาล       เมื่อช่วยเหลือคนตกน้ำขึ้นจากน้ำได้แล้วหากมีการหยุดหายใจ ให้รีบทำการช่วยหายใจ ผายปอด (CPR) ห่มผ้า ให้ความอบอุ่น แล้วรีบนำส่งแพทย์ (การทำ CPR จะไม่กล่าวถึงในที่นี้)  การช่วยเหลือเพื่อเอาน้ำออกจากปอดโดยแบกร่างคนจมน้ำแล้วเขย่า หรือวิ่งไปนั้น ไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่อาจใช้วิธีจัดท่าให้คนจมน้ำให้นอนในลักษณะศีรษะต่ำ ปลายเท้าสูงเล็กน้อย หรือจัดท่าให้นอนตะแคง แล้วกดท้องดันให้น้ำออกมาทางปาก

               กรณีเราเป็นผู้ประสบภัย  เมื่อเราเป็นผู้ประสบภัย ไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ ในขณะรอความช่วยเหลืออยู่ในน้ำควรปฏิบัติดังนี้
-  ตั้งสติ พยายามปลด ถอดสิ่งที่สวมใส่บางอย่างออกไป เช่นรองเท้า เสื้อผ้า ที่หนาๆ
-  อยู่ในลักษณะนอนหงาย ให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ถีบขาคล้าย ๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบา ๆ จะช่วยให้ลอยอยู่ในน้ำ และเคลื่อนที่ไปได้
-  หรืออีกวิธีเป็นแบบที่อยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก  ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ส่วนขาถีบเบา ๆ คล้ายท่ากบ แต่ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามรักษาระดับศีรษะให้อยู่พ้นน้ำไว้  ท่านี้จะสามารถใช้มือโบกขอความช่วยเหลือได้



 
 
 
 
 
 
 
 


วัน ศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2567

สาระดีๆจากศาลปกครอง
Banner_Eservice
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
สาระดีๆ จากศาลปกครอง
คลังข่าวมหาดไทย
จังหวัดน่าน
aec
โอทอป
จัดซื้อ จัดจ้าง
กระทรวงมหาดไทย
ฐานช้อมูลหน่วยงานรัฐบาล
สายด่วน1111
สมาคมข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่น
อีลาแดส
สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน
สหกรณ์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
กรมส่งเสริมการการปกครองส่วนท้องถิ่น